วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของอังกฤษ


ปกรณ์ นิลประพันธ์[๑]

                   อุทกภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี ๒๕๕๔ นั้น ก่อให้เกิดคำถามต่าง ๆ นา ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ รูปแบบและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ประสิทธิภาพในการวางและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมือง การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุทกภัยที่ถูกต้องและเชื่อถือได้แก่ประชาชน ประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าวิกฤตินี้เป็นโอกาสอันดีที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดควรจะได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นระบบซึ่งน่าจะดีกว่าการกล่าวโทษกันไปมา

                   ผู้เขียนพบว่ามหาอุทกภัยเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในคราวนี้มิใช่ครั้งแรกของโลก หากแต่เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศต่างเคยประสบกับวิกฤตการณ์เช่นนี้มาก่อนหน้าประเทศไทยแล้วไม่ว่าจะเป็นที่เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ปากีสถาน อินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ ปัญหาคือเราจะ “เรียนรู้” จากประสบการณ์ของเพื่อนร่วมโลกหรือไม่ อย่างไร และจะนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร

                   อังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เช่นนี้เมื่อหน้าร้อนปี ๒๕๕๐ (๒๐๐๗) โดยเกิดฝนตกหนักถึง ๔๑๔ มิลลิเมตร ซึ่งนับว่าสูงที่สุดนับแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลปริมาณน้ำฝนในปี ๒๓๐๙ (๑๗๖๖) อันเนื่องมาจากการพัดที่ผิดปกติของกระแสลม Jet Stream และอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมากในมหาสมุทรแอตแลนติค  ฝน ๒๔๑ ปีดังกล่าวทำให้เกิดน้ำท่วมหนักส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายแสนคนและธุรกิจจำนวนมาก แม้ขณะนั้นอังกฤษมีระบบบริหารจัดการน้ำที่อยู่ในระดับดี มีระบบการพยากรณ์อากาศที่เชื่อถือได้ในระดับโลก รวมทั้งมีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอยู่แล้วถึง ๓ ฉบับ คือ Coast Protection Act ๑๙๔๙, Water Resources Act ๑๙๙๑ และ Land Drainage Act ๑๙๙๑ แต่ก็ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำปริมาณมหาศาลเช่นนี้ได้ เฉพาะที่ Gloucestershire เพียงแห่งเดียวนั้นปรากฏว่าผู้คนกว่า ๓๕๐,๐๐๐ คน ติดน้ำท่วมโดยปราศจากน้ำดื่มน้ำใช้ติดต่อกันนานถึง ๑๗ วัน ที่ Castle Meads ประชาชนกว่า ๔๒,๐๐๐ คน ไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นวัน ๆ ผู้คนนับหมื่นคนต้องอพยพจากบ้านช่องห้องหับไปอาศัยอยู่บนทางหลวงสาย M๕ เป็นการชั่วคราว ที่สำคัญ น้ำท่วมครั้งนี้กินเวลาหลายเดือนกว่าจะกลับสู่สภาวะปกติ สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งนั้น ปรากฏว่าเฉพาะในส่วนที่มีประกันภัยไว้คิดเป็นเงินกว่าสามพันล้านปอนด์ แต่ค่าเสียหายที่ไม่มีประกันไว้คาดว่าจะมีอีกหลายพันล้านปอนด์ อันนับเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

                   ภายหลังจากน้ำลด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษได้ตั้งคณะกรรมการอิสระ (Independent Commission) ขึ้นคณะหนึ่งเพื่อศึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยมี Sir Michael Pitt เป็นประธาน และรายงานของคณะกรรมการอิสระชุดนี้ซึ่งแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๑ (๒๐๐๘) และรู้จักกันในชื่อ “Sir Michael Pitt’s Review of the Summer ๒๐๐๗ Floods” ซึ่งต่อมารัฐบาลอังกฤษได้นำข้อเสนอแนะเหล่านี้มาปฏิบัติ รวมทั้งได้รัฐสภาให้ตรากฎหมาย Flood and Water Management Act ๒๐๑๐ ขึ้นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำ และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบด้วย

                   ผู้เขียนเห็นว่าผลการศึกษาของคณะกรรมการอิสระชุดนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงได้สรุปเป็นบทความนี้ขึ้น แทนที่จะมุ่งศึกษาในรายละเอียดของ Flood and Water Management Act ๒๐๑๐ อันเป็นเพียงผลผลิตประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระชุดนี้เท่านั้น

                   อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบและวิธีการทำงาน ตลอดจนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระดังกล่าวนั้น ผู้เขียนขออธิบายถึงคำว่า “คณะกรรมการอิสระ” ก่อน เนื่องจากมักมีผู้เข้าใจอยู่เสมอว่าคำว่า “อิสระ” นั้นหมายถึง “ไม่ขึ้นกับใคร” และมักจะตั้งเป็นองค์กรใหม่ ๆ ที่มีงบประมาณ เงินเดือน ฯลฯ เป็นของตัวเอง สามารถของบประมาณได้เองโดยตรงจากรัฐสภา รัฐบาลจะเข้ามายุ่งไม่ได้ แต่ตามหลักสากลนั้น คำว่า “อิสระ” ในที่นี้หมายถึง “ปลอดจากการแทรกแซงในการทำงานและการตัดสินใจ” จากฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากฝ่ายการเมือง เช่น Nuclear Regulatory Commission (NRC) ของสหรัฐอเมริกาก็เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระเช่นกันเพราะกฎหมายจัดตั้ง NRC นั้นมีบทบัญญัติที่ประกันมิให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการดำเนินการขององค์กร มิได้หมายความว่าเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดทั้งในแง่การดำเนิน การบริหารจัดการ และงบประมาณอย่างองค์กรอิสระแบบไทย ๆ โดยกรณี NRC ก็ต้องขอตั้งงบประมาณจากรัฐบาลเหมือนหน่วยงานของรัฐทั่วไปเช่นกัน ซึ่งคณะกรรมการอิสระอันมี Sir Michael Pitt เป็นประธาน แม้จะตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและใช้เงินงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย แต่ก็มีความเป็นอิสระที่สากลโดยนัยเดียวกับ NRC ของสหรัฐอเมริกา เพียงแต่เป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ (ad hoc) มิได้เป็นกรรมการตามกฎหมาย (Statutory body) อย่าง NRC เท่านั้น

                   เหตุผลสำคัญที่ทำให้ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับรัฐบาล รัฐสภา และสาธารณชนนั้น ผู้เขียนเห็นว่าสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานของคณะกรรมการอิสระวางอยู่บนสมมุติฐานที่สำคัญ ๔ ประการ ดังนี้

                   ประการที่หนึ่ง คณะกรรมการอิสระเห็นว่า “ความต้องการ” (Needs) ของประชาชนและชุมชนซึ่งประสบภัยและผู้ซึ่งเสี่ยงที่จะประสบภัยนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดทำรายงานนี้เนื่องจากสิ่งที่รัฐบาลต้องนำไปปฏิบัติต้องช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเช่นว่านี้อีกต่อไปในอนาคต

                   ประการที่สอง การป้องกันและเยียวยาผลกระทบอันเกิดขึ้นจากอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพต้องการการดำเนินการอย่างจริงจังของผู้มีอำนาจทั้งในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพสูงสุด

                   ประการที่สาม จะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบดำเนินการในเรื่องใดและอย่างไร โครงสร้างการบริหารงานในกรณีเร่งด่วนเช่นนี้ควรสั้น กระชับชัดเจน และต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

                   ประการที่สี่ ต้องมีการบูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยที่เกิดขึ้นแล้วและบรรดาความเสี่ยงต่าง ๆ บรรดาที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยกันเองและและต่อสาธารณชน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการบริหารจัดการข้อมูลเสียใหม่จาก “ต้องการข้อมูลจากคนอื่น” เป็น “ต้องการที่จะแบ่งปันข้อมูลกับคนอื่น”

                   นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระชุดนี้ได้ดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใสและมีความเป็นวิชาการ โดยนอกจากการประชุมปรึกษาหารือกันภายในแล้ว ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย โดยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือพร้อมเหตุผล รวมทั้งข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการอิสระได้โดยตรง (Submission) มีการลงพื้นที่และพบปะพูดคุยกับทั้งผู้ประสบภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุน้ำท่วม มีการเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับรวมทั้งการแสดงความคิดเห็นตอบต่อสาธารณชน และจ้างนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นนำของโลกมาศึกษาและให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการ รวมทั้งการศึกษาดูงานในเรื่องนี้จากประเทศต่าง ๆ ด้วย

                    ทั้งนี้ ในการจัดทำข้อเสนอแนะดังกล่าวคณะกรรมการอิสระเห็นว่า การป้องกัน บริหารจัดการ ให้ความช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟูน้ำท่วมนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทั้งภาครัฐและเอกชนต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าน้ำจะท่วมที่ไหน เมื่อใด และจะท่วมนานเท่าใด เนื่องจากหากเกิดน้ำท่วมขึ้นจริง ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของเอกชน และต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศนับว่ามากมายมหาศาล การรู้ก่อนจะทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเตรียมวางแผนการป้องกัน บรรเทา เยียวยา และฟื้นฟูไว้ได้ล่วงหน้าและจำกัดขอบเขตความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ อันเป็นการบริหารความเสี่ยง (Risks management) ประการหนึ่ง

                   สำหรับกรณีน้ำท่วมใหญ่ที่อังกฤษคราวนี้ คณะกรรมการอิสระสรุปว่า แม้จะไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ฝนตกหนักผิดปกติอันนำมาซึ่งน้ำท่วมในครั้งนี้ แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) อาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดกรณีนี้ขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป “การปรับตัว” (Adaptation) ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐเพื่อรองรับกับสถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แทนที่จะรอคอยความช่วยเหลือหรือให้การบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดเหตุพิบัติภัยทางธรรมชาติขึ้นอย่างที่ผ่านมา เพราะสภาพธรรมชาติจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว สำหรับหน่วยงานของรัฐนั้นอาจต้องมีการพิจารณาทบทวนพันธกิจและภารกิจเพื่อปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย เช่น กรณีกรมทางหลวง (Highway Agency) แทนที่จะมีภารกิจและพันธกิจด้านการสร้างถนนหนทางเพื่อการคมนาคมอย่างเดียว ก็อาจต้องมีพันธกิจเพิ่มเติมเพื่อให้ถนนนั้นสามารถใช้เป็นแนวป้องกันน้ำท่วมหรือทางระบายน้ำในกรณีที่เกิดน้ำท่วมได้ด้วย เป็นต้น และคณะกรรมการอิสระเห็นว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่ดูแลรับผิดชอบและวางแผนรองรับน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกรณีน้ำหลาก (Surface water flooding) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจไม่มีการเตรียมพร้อมรองรับมาก่อน

                   สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้การป้องกัน บริหารจัดการ ให้ความช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟูน้ำท่วมเป็นมรรคเป็นผลก็คือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เพราะจะช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมขึ้นได้ และองค์ความรู้นี้จะยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประยุกต์จนสามารถนำมาใช้ในการทำนายสิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เพราะแม้ปัจจุบันอังกฤษจะมีระบบการพยากรณ์อากาศที่ทั่วโลกยอมรับ แต่คณะกรรมการอิสระเห็นว่ายังมีข้อที่จะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้นอีก เพราะยิ่งทำนายได้ใกล้เคียงว่าน้ำจะท่วมที่ใด เมื่อใด ปริมาณน้ำที่ท่วมมากน้อยเพียงไร ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ การวางแผนและการเตรียมการรองรับเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากน้ำท่วมให้ต่ำที่สุด ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการพยากรณ์อากาศและการทำนายปริมาณน้ำของกระทรวงสิ่งแวดล้อมมิได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ซึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมก็ยอมรับข้อเท็จจริงนี้และรับว่าต้องมีการปรับปรุงเครื่องมือและพัฒนาความรู้ทางเทคนิคในเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถทำนายและทำแบบจำลองสถานการณ์น้ำท่วมในกรณีต่าง ๆ ได้หลากหลายมากขึ้นและใกล้เคียงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด โดยเฉพาะระดับน้ำและความเร็วในการไหลของน้ำ เพราะน้ำท่วมสูงหกนิ้วที่ไหลแรงสามารถทำให้คนไม่สามารถยืนทรงตัวได้ และหากท่วมสูงสองฟุตก็สามารถทำรถยนต์ลอยได้ นอกจากนี้ระดับน้ำยังเป็นอุปสรรคต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และทำให้การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยเป็นไปด้วยความยากลำบากและอันตรายทั้งต่อผู้ประสบภัยเองและผู้ให้การช่วยเหลือ

                   เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้เสนอยุทธศาสตร์ที่จะบูรณาการการทำงานกับสำนักงานอุตุนิยมวิทยาให้ใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อพัฒนาเครื่องมือและความรู้ทางเทคนิคดังกล่าว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการอิสระเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบด้านการระบายน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทผู้ผลิตน้ำประปา กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า (Navigation authority) และเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินติดชายฝั่ง (Riparian owners) ทั้งหลายด้วย

                   สำหรับการบูรณาการการทำงานกับสำนักงานอุตุนิยมวิทยานั้นนับว่าเป็นเรื่อง ที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากการพยากรณ์อากาศเป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการน้ำท่วมและกรมอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษนับเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่ยังคงต้องปรับปรุงในเรื่องความถี่ในการพยากรณ์ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นของสิ่งที่พยากรณ์ และความถูกต้องของข้อมูลที่พยากรณ์ในระดับตำบล (City or town level) อันจะช่วยทำให้การพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักเชื่อถือได้และเป็นประโยชน์ในการแจ้งเตือนประชาชน และการเตรียมการรองรับน้ำท่วมที่รวดเร็ว  นอกจากนี้ การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านข้อมูลดังกล่าวมิได้เป็นประโยชน์เฉพาะในแง่การทำนายน้ำท่วมเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในการป้องกันความเสี่ยงอื่นอันอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น ฝนแล้ง พายุลมแรง หิมะตกหนัก เป็นต้น ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วย

                    หากพิเคราะห์ข้อเท็จจริงอันนำมาซึ่งเหตุน้ำท่วมใหญ่ในอังกฤษในปี ๒๕๕๐ ประกอบกับรายงานของคณะกรรมการอิสระของอังกฤษชุดนี้ประกอบกับ Stern Review: The Economics of Climate Change[๒] ผู้เขียนเห็นว่า ทัศนะเกี่ยวกับน้ำของต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยมองน้ำเพียงมิติเดียวว่าเป็น “ทรัพยากรธรรมชาติ” ที่มีอยู่อย่างจำกัดและมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นหลัก โดยปัจจุบันน้ำถูกมองว่ามีศักยภาพที่จะเป็น “ภัยคุกคาม” (Treat) ประการหนึ่งด้วย ดังนั้น ทิศทางการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันจึงต้องพิจารณาทั้งสองมิติดังกล่าวไปพร้อม ๆ กัน

                   อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการน้ำไม่ว่าจะเป็นในมิติทรัพยากรธรรมชาติหรือมิติภัยคุกคามก็คือ “ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ” เกี่ยวกับปริมาณน้ำและการพยากรณ์อากาศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องปรับปรุงเครื่องไม้เครื่องมือและพัฒนาความรู้ทางเทคนิคให้ทันสมัยเพื่อที่จะทำให้การทำนายปริมาณน้ำและการพยากรณ์อากาศมีความถูกต้องแม่นยำในระดับอำเภอหรือตำบล และเพิ่มความถี่ในการแจ้งข้อมูลให้บ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถ “เข้าถึง” ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้นโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ทั้งนี้ เพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะได้นำข้อมูลนี้ไปใช้วางแผนการผลิต ตลอดจนรับมือน้ำท่วมได้อย่างเหมาะสม และผู้เขียนห็นพ้องกับข้องเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระของอังกฤษว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมและบริหารข้อมูลควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานใหม่ให้เป็น “องค์กรแห่งการแบ่งปันข้อมูล” แทนที่ต่างหน่วยต่างมีข้อมูลซึ่งทำให้ไม่สามารถบูรณาการข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

                   ในสหรัฐอเมริกา United States Geological Survey (USGS) จะเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวกับ สภาพอากาศและธรณีสภาพ ระบบนิเวศน์ พลังงาน แร่ธาตุ ความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม และน้ำรวมทั้งรับผิดชอบในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ในการจัดให้ได้มา ศึกษาวิเคราะห์ บูรณาการข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวด้วย โดย USGS กำหนดวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจในเรื่องนี้ว่าจะเป็นองค์กรที่จัดให้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้เพื่ออธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลก เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ เพื่อบริหารจัดการแหล่งน้ำ แหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต แหล่งพลังงาน และแหล่งแร่ และเพื่อสร้างเสริมและคุ้มครองคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ซึ่งประเด็นที่อยู่ในความสนใจของ USGS ได้แก่ Avian Influenza, Climate Change, Contaminants, Droughts, Earthquakes, Energy and Minerals, Floods, Geospatial Analysis, Groundwater, Surface water, Human Health, Invasive Species, Map Interfaces, Maps and Atlases, Microbiology, Real-time data, Remote Sensing, Volcanoes, Water Quality และ Wildfires[๓]

                 ฐานข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในการบริหารจัดการในเชิงพัฒนา และการรองรับความเสี่ยง โดยในแง่การพัฒนานั้น ฐานข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เกษตรกร และผู้ประกอบธุรกิจในการวางแผนการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการจัดทำแผนการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการวางผังเมือง ออกข้อบังคับต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไป เช่น กรณีอังกฤษกำหนดให้การใช้วัสดุที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ในการปูสนามหลังบ้านต้องได้รับอนุญาตก่อน หรือกรณีการกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างต้องขออนุญาตเชื่อมท่อน้ำทิ้งและท่อระบายน้ำเข้ากับระบบสาธารณะเพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและความสามารถในการรองรับน้ำของระบบสาธารณะ เป็นต้น การกำหนดแผนการรองรับภัยพิบัติธรรมชาติ รวมทั้งการรักษาสภาพแวดล้อม  ส่วนรัฐบาลกลางก็จะได้มีข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และเตรียมงบประมาณและแผนการรองรับภัยพิบัติฉุกเฉินอันเนื่องมาจากภัยพิบัติตามธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว




[๑]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (๒๕๕๔)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น