วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คำเตือนจากป้ายห้ามสูบบุหรี่



ปกรณ์ นิลประพันธ์
                สักพักหนึ่งก่อนที่จะลงมือเขียนบทความนี้ ผมไปทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำและเหลือบไปเห็นป้ายอยู่ป้ายหนึ่งติดอยู่ที่ผนังห้องน้ำ
                ป้ายนี้เก่าคร่ำคร่า สีกระดำกระด่าง คงติดมานานแล้ว เป็นป้ายห้ามสูบบุหรี่พร้อมข้อความว่า “เขตปลอดบุหรี่ โปรดงดสูบบุหรี่ ฝ่าฝืนโทษปรับ 2,000 บาท” ครับ ผมไม่ค่อยได้สนใจป้ายนี้เพราะไม่สูบบุหรี่และที่ผ่าน ๆ มาก็ไม่เคยได้กลิ่นบุหรี่ในห้องน้ำ เรียกว่าเป็นเด็กดีกันทั้งออฟฟิศว่างั้นเถอะ
                แต่คราวนี้พอจ้องมันนานเข้า สมองก็พาลคิดไปว่าถ้ามีผู้อุตริแอบไปสูบบุหรี่ในห้องน้ำ ผมจะต้องไปบอกใครให้มาปรับละนี่ ป้ายเขาก็ไม่ได้บอกไว้ว่าให้แจ้งใคร ความสงสัยพลุ่งพล่านมากขึ้นเมื่อเสร็จธุระจึงรีบแจ้นกลับตู้ปลามาเปิดกฎหมายดู
                กฎหมายที่ว่านี้ก็คือพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ครับ กฎหมายนี้เขาให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศเขตไม่สูบบุหรี่ ซึ่ง “สุขา” นั้นเป็นสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขนะครับ และมาตรา 6 เขาห้ามมิให้ผู้ใดสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ และมาตรา 14 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนมีอำนาจเรียบเทียบปรับครับ
                ว่าง่าย ๆ ก็คือต้องไปแจ้งตำรวจมาจับไปดำเนินคดี ถ้าเขายอมเสียค่าปรับก็จบกัน
                พูดก็ดูจะง่ายอย่างว่าครับ แต่ถ้าดูลึก ๆ แล้วจะพบว่าการเขียนกฎหมายแบบนี้กลับทำให้กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย เพราะตามกลไกที่กำหนด คนเหม็นบุหรี่ต้องไปแจ้งความให้ตำรวจมาจับคนสูบเสียก่อน กว่าจะหาตำรวจได้บุหรี่คงหมดไปหลายซองแล้ว ส่วนก้นบุหรี่ก็คงลงชักโครกไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าจะหาหลักฐานกันจริง ๆ ก็คงเลอะเทอะกันน่าดู
                ทีนี้เมื่อกลไกตามกฎหมายวุ่นวายขนาดนี้ ลองนึกถึงตัวเราครับว่าถ้าเราพบคนสูบบุหรี่ในห้องน้ำ เราจะไปตามตำรวจมาจับคนฝ่าฝืนกฎหมาย หรือว่าเราจะเลือกกลั้นหายใจทำธุระให้เสร็จไว ๆ แล้วรีบออกไปหายใจข้างนอก
                ผมว่าถ้าเราไม่มีเหตุโกรธเคืองหมอนั่นจริง ๆ เราคงไม่ไปตามตำรวจมาจับมัน..จริงไหมครับ
                นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ากลไกตามกฎหมายบางเรื่องนั้นไม่เหมาะสมกับสภาพของเรื่องเสียเลย จึงทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะช่วยทำกฎหมายให้เป็นกฎหมายจนเป็นความเคยชิน และถ้าเรื่องนี้ละเลยได้ เรื่องอื่นก็ละเลยได้เช่นกัน
                ตัวอย่างอีกประการหนึ่งที่ชัดเจนก็คือการข้ามถนนครับ กฎหมายจราจรทางบกมาตรา 104 บัญญัติชัดเจนว่า ภายในระยะไม่เกิน 100 เมตรนับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม โทษปรับ 200 บาทตามมาตรา 147 ครับ แต่ปัญหาเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายก็เป็นทำนองเดียวกันกับเรื่องบุหรี่นี่แหละครับ  ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นพ่อแม่จูงลูกข้ามถนนใต้สะพานลอยเสมอ
                ดังนั้น เวลาร่างกฎหมายให้ลองนึกเสมอครับว่าเราจะกำหนดกลไกในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร อย่าสักแต่ลอก ๆ แบบกันมา ... โลกเดี๋ยวนี้หมุนไวมาก ถ้านักร่างกฎหมายเอาแต่ลอกแบบเก่า ๆ จะตามโลกไม่ทัน ... แล้วก็ให้ระวังไว้ด้วยครับว่าถ้าถึงวันที่เราตามโลกไม่ทัน เราคงจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น