วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทางออกจากวิกฤติในทัศนะของนักร่างกฎหมายคนหนึ่ง

ความเห็นทางวิชาการ: ผมเห็นว่าเราสามารถแก้วิกฤติครั้งนี้ได้โดยใช้มาตรา 7 ควบคู่ไปกับการเลือกตั้งได้ โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ในเมื่อทุกฝ่ายยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงใช้บังคับอยู่ ไม่มีใครอยากฉีก และทุกฝ่ายต้องการปฏิรูปโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ผมเสนอให้ "ทุกพรรคการเมือง" ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะทุกฝ่ายย่อมเล็งเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ท่ามกลางสภาวะที่มีการแตกแยกทางความคิดรุนแรงเช่นนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งไปก็จะไเกิดปัญหาเดิม ๆ ไม่มีทางจบสิ้น และปัญหาจะยืดเยื้อเรื้อรังไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา

2. เมื่อทุกพรรคตกลงกันไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้ง กรณีก็จะเกิดช่องว่างของกฎหมายขึ้น เพราะกฎหมายการเลือกตั้งและการได้มาซึ่ง สส  และ  สว นั้นมิได้ออกแบบมาเพื่อรองรับกรณีเช่นนี้ไว้ และรัฐธรรมนูญก็มิได้มีบทบัญญัติรองรับกรณีดังกล่าวไว้เช่นกัน

3. เมื่อเกิดกรณีที่มิได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญขึ้นเช่นนี้ ผมเห็นว่าต้องอาศัยประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 7 มาใช้อุดช่องว่างที่เกิดขึ้นดังกล่าว 

4. การนำมาตรา 7 มาใช้ในกรณีนี้มิใช่เพื่อขอพระราชทานนายกคนกลาง หรือสภาปฏิรูป เพราะทุกคนยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันยังคงใช้บังคับอยู่และมีกระบวนการให้ได้มาซึ่ง สส และนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน แต่โดยที่มาตรา 101(3) ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าผู้สมัคร สส ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ดังนั้น เมื่อไม่มีพรรคการเมืองใดผู้สมัคร คณะรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในระหว่างที่มีการยุบสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงอาจกราบบังคมทูลขอพระราชทานนำประเพณีการปกครองฯในอดีตมาใช้เฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ 

5.ถามว่าจะใช้อย่างไร ผมมีความเห็นว่าคุณสมบัติของ สส ตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นมีสองแบบ แบบหนึ่งคือ สส ต้องสังกัดพรรค อีกแบบหนึ่งคือ  สส ไม่ต้องสังกัดพรรค เมื่อบทบัญญัติที่ให้ สส ต้องสังกัดพรรคเป็นผลให้ไม่มีผู้สมัคร และไม่มีทางให้ได้มาซึ่งองค์กรผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฯ กรณีจึงต้องอุดช่องว่างดังกล่าวโดยใช้ประเพณีการปกครองแบบที่ สส ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองอันเป็นการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 101(3) ซึ่งไทยเราก็เคยมีประเพณีงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราหรือให้ใช้ภายใต้เงื่อนไขบางประการมาก่อนแล้วในกรณีวิกฤติ ได้แก่ ประกาศ เรื่อง การใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2500 (รจ เล่ม 74 ตอนที่ 78 วันที่ 18 กันยายน 2500)

6. โดยที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้วว่าต้องปฏิรูปการเมืองเป็นลำดับแรก ดังนั้น เพื่อแสดงถึงความตั้งใจจริงของพรรคการเมืองทุกพรรคดังกล่าวที่มีต่อประเทศไทย หากมีการอุดช่องว่างในการเลือกตั้งครั้งนี้โดยการขอพระราชทานงดใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 101(3) แล้ว พรรคการเมืองทุกพรรคและกลุ่มที่มีส่วนได้เสียในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปในครั้งนี้ ก็ไม่สมควรที่จะส่งผู้เกี่ยวข้องสมัครเข้ารับเลือกตั้งเฉพาะในครั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจต่อการปฏิรูป และทำให้เราได้ผู้สมัครที่มีความเป็นกลางและตั้งใจเข้าไปปฏิรูปประเทศต่อไป

7. ความคิดเห็นทางวิชาการนี้เป็นความคิดเห็นโดยอิสระของผู้เขียนซึ่งเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ผูกพันสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอันเป็นต้นสังกัด และมิได้ทำเป็นเอกสารเผยแพร่ในสำนักงานฯ เนื่องจากขี้เกียจขออนุญาต.

นายปกรณ์ นิลประพันธ์




*บทความนี้เป็นผลงานทางวิชาการของผู้เขียน แม้ผู้เขียนจะทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่หน่วยงานต้นสังกัดของผู้เขียนไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย และไม่ถือเป็นความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา* 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น