วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

ปัญหาน่าขบ 3: เลื่อนได้หรือไม่ได้

ปกรณ์ นิลประพันธ์

                   ลูกชายผมดูข่าวทีวีแล้วมีคำถามอีกแล้วครับ คืออย่างนี้ครับ สองสามวันก่อนหนุ่มน้อยดูข่าวสารบ้านเมืองเราที่วนเวียนวุ่นวายกับการถกเถียงของผู้เซี่ยวซานทั้งหลายว่าการเลื่อนเลือกตั้งทั่วไปทำได้หรือไม่ได้ หลังจากนั้นก็เป็นข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับ Polar Vortex ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่หนาวสุดขั้วจนชาวบ้านออกมาจากบ้านไม่ได้ เขาจึงยิงคำถามมาที่ผมทันทีว่าถ้านักอุตุนิยมวิทยามีข้อมูลที่ "คาดว่า" จะเกิดเหตุการณ์ Polar Vortex เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทย "ทั้งประเทศ" ในช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เราจะเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปได้หรือไม่? เพราะเหตุใด?

                   ผมตอบลูกไปว่าการเลือกตั้งทั่วไปไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องทำเมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือเมื่อมีการยุบสภา แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศมาเจตนารมณ์โดยพร้อมเพรียงกันเพื่อตัดสินใจว่าของพวกเขาต้องการเลือกพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายตรงกับความต้องการของเขาให้เข้ามาบริหารประเทศ ดังนั้น การดำเนินการเลือกตั้งจึงต้องเอื้อต่อการแสดงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทั้งประเทศ เช่น วันเวลาที่ประชาชนสะดวก สถานที่เลือกตั้งต้องสะดวกต่อการเดินทางไปใช้สิทธิของคนในเขตเลือก คูหาเลือกตั้งต้องจัดในลักษณะที่ผู้มีสิทธิสามารถใช้สิทธิได้อย่างสมบูรณ์ คือ ไม่มีใครเห็นว่าเราลงคะแนนเลือกใคร เป็นต้น ในกรณีที่นักอุตุนิยมวิทยามีข้อมูลที่คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์ Polar Vortex แน่นอน แต่ยังคงดึงดันให้มีการเลือกตั้งในช่วงสภาวะวิกฤติเช่นนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากคงไม่สามารถออกมาใช้สิทธิได้ เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่คุกคาม หรือหากออกมาใช้สิทธิได้ การใช้สิทธินั้นก็ไม่อยู่บนพื้นฐานของการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของผู้สมัครที่เพียงพอ เพราะในสภาวการณ์เช่นนั้น คงไม่มีผู้สมัครรายใดออกมาหาเสียงเลือกตั้งได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลเช่นนี้ หากดันทุรังให้มีการเลือกตั้งต่อไป ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็จะไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนอันเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการเลือกตั้ง การที่กฎหมายมีบทบัญญัติเพื่อเป็นหลักประกันให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมก็เพื่อให้ได้มาซึ่งแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนนั่นเอง กรณีจึงมิใช่ว่าหากกฎหมายไม่ได้เขียนให้เลื่อนจึงเลื่อนไม่ได้ อันการตีความตามตัวอักษรโดยมิได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายซึ่งให้ผลที่แปลกประหลาด (Absurd) 

                   ถูกหรือผิดก็ไม่รู้ และประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้หรือไม่ก็ไม่รู้ อิอิ!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น