วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

<รับฟังความคิดเห็น>

บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                  

                                                                        หลักการ

                    (๑)  ปรับปรุง (๑) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค”  ให้จำกัดเฉพาะคดีแพ่งที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา ๑๙ หรือตามกฎหมายอื่น ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ หรือเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (แก้ไขเพิ่มเติม (๑) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑)
                    (๒) ยกเลิก (๒) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค” (ยกเลิก (๒) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑)
                  (๓) ยกเลิกมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

                                                                        เหตุผล

                   โดยที่ปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจอาศัยช่องว่างของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณา
คดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ฟ้องผู้บริโภคเพื่อบังคับชำระหนี้เป็นจำนวนมาก โดยปรากฏว่า
คดีผู้บริโภคนั้น มีคดีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์เพียงประมาณร้อยละห้าเท่านั้น ขณะที่มีคดีที่ผู้ประกอบ
ธุรกิจเป็นโจทก์ถึงประมาณร้อยละเก้าสิบห้า การกระทำดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่ต้องการให้มีวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค อันจะทำให้ผู้บริโภคซึ่งได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพอันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทั้งยังเป็นการใช้กฎหมายเพื่อบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยไม่เป็นธรรมด้วย กรณีจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่าง
พระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) 
พ.ศ. ....
                  

                                                                .........................................
                                                               ..........................................
                                                               ..........................................

                    ..............................................................................................
...................................

                   โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

                      ..............................................................................................
...................................

                   มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...."

                   มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความใน (๑) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                   “(๑) คดีแพ่งที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา ๑๙ หรือตามกฎหมายอื่น ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ หรือเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย”

                   มาตรา ๔  ให้ยกเลิก (๒) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

                   มาตรา ๕  ให้ยกเลิกมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

                   มาตรา ๖ ให้ถือว่าคดีผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคบรรดาที่ยังอยู่
ในระหว่างการพิจารณาของศาลในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับ ไม่เป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ อีกต่อไป และให้ศาลพิจารณา พิพากษาคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงคดีลักษณะดังกล่าวที่ศาลได้มีคำพิพากษาและถึงที่สุดแล้ว

                  มาตรา ๗  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


...............................................
            นายกรัฐมนตรี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น