วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ความเห็นทางวิชาการ: ใบปลิว ตอน 1 โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

หลายวันก่อนผมได้ใบปลิวมาใบหนึ่ง ในนั้นเขาเขียนอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยและร่างรัฐธรรมนูญไว้หลายเรื่อง

ผมอ่านแล้วเห็นว่าสิ่งที่เขาเขียนไว้นั้นมันไม่ตรงกับสิ่งที่ผมเคยศึกษาเล่าเรียนมา จึงคิดว่าในฐานะที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผมควรจะเขียน "ความเห็นแย้ง" ในแต่ละประเด็นไว้เพื่อให้มีการถกแถลงทางวิชาการโดยใช้เหตุใช้ผลกันต่อไป เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยของบ้านเรามีความเจริญงอกงามไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ใช้แต่ "คารม" กับ  "อารมณ์" กันตะพึดไป เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าคารมและอารมณ์นั้นทำให้บ้านเราย่ำอยู่กับที่มานานหลายปีแล้ว

ในใบปลิวนั้นเขาอธิบายเป็นปฐมว่า "สิทธิบางประการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เครื่องการันตีว่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะสุดท้ายแล้ว การที่ประชาชนจะอยู่ดีมีสุขนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากรัฐบาลที่มาบริหารประเทศมีความรู้ความสามารถ และเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง สามารถกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อประชาชนได้ แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ กลับมีกรอบที่คอยควบคุมไม่ให้รัฐบาลสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ อันอาจขัดขวางการตอบสนองต่อประชาชนได้"

ด้วยความเคารพ ผมไม่เห็นพ้องด้วย และขอแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาไตร่ตรองของท่านผู้อ่านในประเด็นนี้ ดังนี้ครับ

1. ตามกฎบัตรและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีนั้น ประเทศไทยต้องมี “หลักประกัน” ว่า “สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ของประชาชนจะต้องไม่ถูกล่วงละเมิดไม่ว่าจากการใช้อำนาจรัฐหรือจากบุคคลอื่น และรัฐ “มีหน้าที่” ที่จะต้องคุ้มครองหรือทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นไปตามหลักประกันดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ แต่ทั้งนี้ หลักสากลที่ว่าเขากำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ด้วยว่า ประชาชนต้องใช้สิทธิเสรีภาพอย่าง "มีความรับผิดชอบ" ต่อผู้อื่น สังคม และประเทศชาติด้วย มิฉะนั้นบ้านเมืองจะเกิดโกลาหลวุ่นวาย

2. ทุกประเทศได้วางหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด และรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับรวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ดำเนินการตามแนวทางนี้ ส่วนการที่ประชาชนจะใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญวางหลักประกันได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่ "รัฐ" ต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยฝ่ายนิติบัญญัติต้องตรากฎหมายที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของ "มหาชน" และไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็นและได้สัดส่วน ฝ่ายบริหารต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและตรงไปตรงมา และฝ่ายตุลาการต้องอำนวยความยุติธรรมโดยไม่ชักช้า

3. สำหรับ "ความอยู่ดีมีสุข" ของประชาชนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลประการเดียว แต่ขึ้นอยู่กับองคาพยพอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และความเข้มแข็งของภาคประชาชน การให้ความสำคัญแก่ฝ่ายบริหารเพียงฝ่ายเดียวจึงไม่สอดคล้องกับ "หลักการแบ่งแยกอำนาจ" และ "หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน" อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

4. ความโปร่งใสและการตรวจสอบ ถือเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย โดยเป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือโดยไม่มีเหตุผล เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน-โดยประชาชน-เพื่อประชาชน จึงต้องยึดความต้องการของ "มหาชน" เป็นหลักหรือเป็นศูนยกลางในการดำเนินการต่าง ๆ อย่างมีเหตุมีผล มีข้อมูลประกอบอย่างรอบคอบรอบด้าน มีการพิจารณาผลดีผลเสียและผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยละเอียด มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและมหาชนประกอบการตัดสินใจ และต้องใช้เงินแผ่นดินอันเป็นเงินภาษีอากรอย่าง "คุ้มค่า" ที่สุด อีกทั้งการเปิดเผยและการตรวจสอบ ไม่ใช่การจ้องจับผิด ดังนั้น รัฐบาลจึงมีอิสระในการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ถ้ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรผิด หรือทำอะไรมีเหตุผล ก็ไม่ต้องหวาดระแวงหรือกลัวการเปิดเผยข้อมูลหรือการตรวจสอบ จะมีก็แต่ทุรชนเท่านั้นที่ไม่ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลและไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ

5. กลไกการตรวจสอบตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ไม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยนอกจากการตรวจสอบโดย สส และ สว แล้ว ยังคงมีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระเหมือนเดิม แต่ได้ปรับปรุงให้องค์กรอิสระทำงานให้รวดเร็วขึ้น สำหรับสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาได้แก่การตรวจสอบของประชาชนและชุมชนตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public participation) โดยร่างรัฐธรรมนูญนี้ักำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐต่อประชาชน และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก เพื่อให้ประชาชนและชุมชนได้รับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้โดยตรง ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักความโปร่งใส (Transparency) หลักความรับผิดชอบ (Accountability) และหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) เป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

6. นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังได้กำหนดกระบวนการตรวจสอบองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทั้งหลายนี้ไว้ด้วย ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าองค์กรอิสระจะมีอำนาจล้นฟ้า ทำอะไรก็ได้ หากแต่ต้องถูกตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติและภาคประชาชนเช่นเดียวกันตามหลักการถ่วงดุลและคานอำนาจ

กล่าวโดยสรุป ทุกประเทศในโลกที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่างมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐทั้งสิ้น ถ้ายึดมั่นในประชาธิปไตยจริง ก็ต้องยึดมั่นในเรื่องความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการตรวจสอบด้วย ไม่ใช่ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้อันเป็น "แก่น" ของประชาธิปไตย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น