วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560

การพัฒนามนุษย์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อสองสามปีมาแล้ว รายงานประจำปีของ OECD วิเคราะห์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า พลเมืองโลกต้องมีคุณลักษณะ 3 ประการ เรียงตามลำดับ คือ (1) มี creativity หรือมีความคิดสร้างสรรค์ (2) มี collaboration หรือมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเข้าอกเข้าใจกัน และ (3) มี talent หรือมีความฉลาด

เหตุที่เขาเรียงลำดับอย่างนี้เพราะโลกในอนาคตเป็นโลกที่มีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงกันอย่างมากโดยผลของเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งระบบการคมนาคมขนส่งที่ทั้งสะดวกและง่ายดายทำให้พรมแดนเป็นเสมือนเส้นสมมุติ การค้าขายสินค้าหรือบริการขั้นพื้นฐาน (primary product) ในรูปแบบเดิม ๆ ยังคงมีอยู่ แต่จะน้อยลง เพราะไม่มีมูลค่าเพิ่ม ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าหรือบริการทั้งเล็กทั้งใหญ่ จึงต้องผนวก "ความคิดสร้างสรรค์" ลงไปในสินค้าหรือบริการของตนเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และตรงกับความต้องการของตลาดที่จะแตกต่างหลากหลายออกไปอย่างมากมาย ไม่จำกัดเฉพาะตลาดของสินค้าเฉพาะอย่าง (product market) หรือตลาดตามภูมิศาสตร์ (geographical market) ตามตำรายุค 1970s อีกต่อไป

ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ต่างจากนวัตกรรม (innovation) ตรงที่อาจไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่ขึ้น แต่ทำให้สินค้าหรือบริการมีมูลค่ามากขึ้น เช่น ข้าว เมื่อก่อนขายใส่กระสอบ เดี๋ยวนี้มีการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ น่าซื้อหาเป็นของขวัญของฝาก ขนมโมจิของญี่ปุ่นที่มีบรรจุภัณฑ์ที่ชวนซื้อแม้จะแกะออกมาแล้วมันก็คือโมจิรสชาติคล้าย ๆ กันนั่นแหละ หรืออย่างขนมปังอบชีสไส้สับปะรดของชาวบ้านแถวหัวหินที่มีต่างชาตินำไปทำรูปร่างหน้าตาให้ดูดีแล้วใส่บรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดชวนซื้อเป็นของฝากในราคาแสนแพง หรือการสร้าง content ของเกมส์ที่เกมส์เมอร์เห็นแล้วต้องสูดปากซื้อหามาเล่น หรือการออกแบบสติ๊กเกอร์ที่ใช้ส่งให้แก่กันในสังคมออนไลน์ เป็นต้น

การสร้างคนให้มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่สั่งให้คิด แต่ต้องควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ให้โอกาส ให้การยอมรับ ให้เวทีแสดงออก ฯลฯ

สำหรับดิจิทัลนั้นเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปรียบได้กับถนนที่จะนำสินค้าหรือบริการไปจำหน่ายได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น การมีระบบดิจิทัลที่ดีเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น แต่ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการมีสินค้าหรือบริการที่มีความคิดสร้างสรรค์ไปจำหน่ายด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าคนอื่นสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่เราจัดทำขึ้นนำสินค้าหรือบริการแปลก ๆ ใหม่ ๆ เข้ามาจำหน่ายในบ้านเราได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

ในประเด็น collaboration นั้น เขาบอกว่าการที่โลกอยู่ในสถานะเสมือนไร้พรมแดนจากความก้าวหน้าของการสื่อสารจะทำให้เราต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายจากทั่วทุกสารทิศ ถ้าเราไม่สามารถอยู่ในสังคมอย่างเข้าใจและเข้าถึงกัน มันจะเกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความแตกแยก ดังเช่นที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงทั่วโลกในขณะนี้ เขาจึงบอกว่าคนในอนาคตจะต้องมีคุณลักษณะนี้ ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่โดยปราศจากความเข้าใจวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ศาสนา และการดำรงชีวิตของผู้อื่นที่หลากหลาย เพราะทุกคนมีคุณค่า ที่สำคัญคือต้องรู้รักสามัคคีกัน

การจะมี collaboration ได้ต้องเปิดใจกว้าง ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ภาษาใหม่ ๆ วัฒนธรรมใหม่ ๆ ไม่ใช่รู้จักแต่ตัวเอง หรือแม้แต่ตัวเองก็ยังไม่รู้จัก แต่ดันผ่าไปรู้จักเรื่องของคนอื่น แถมรู้อย่างงู ๆ ปลา ๆ

ความฉลาดเขานับเป็นลำดับสุดท้าย เพราะถ้าฉลาดตามตำรา แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็ยากที่ะเจริญได้ หรือถ้าฉลาดแต่ไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสังคม ก็อยู่ร่วมกับผู้อื่นยาก และเป็นปัญหาของสังคมในที่สุด ที่ร้ายที่สุดคือฉลาดแต่ไม่รู้จักพอ พวกนี้จะเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คิดถึงส่วนรวม ไม่คิดถึงชาติบ้านเมือง เขาจึงจัดฉลาดไว้ท้ายสุด

จะว่าไปทุกประเทศให้ความสำคัญกับการ "พัฒนามนุษย์" เพราะพวกเขาคืออนาคตของชาติ ที่ผ่านมาเราดูเหมือนจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไม่แพ้ชาติใด ๆ โดยเฉพาะการสร้าง "ความฉลาด" โดยไม่ค่อยใส่ใจเรื่อง creativity กับ collaboration สักเท่าไรนัก ดังจะเห็นได้จากโครงสร้างหลักสูตรและเนื้อหาวิชาที่เรียน ซึ่งนับว่าสวนทางกับการพัฒนามนุษย์ของชาติอื่นมาก แถมเอาเข้าจริงกระบวนการพัฒนามนุษย์ของเรากลายเป็นสร้างตำแหน่ง สร้างระบบ สร้างหลักสูตร สร้างหน่วยงานเสียเป็นหลัก ผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินของสถาบันต่าง ๆ ในระดับโลกแสดงให้เห็นว่าเราพัฒนามนุษย์ผิดทิศผิดทางมากว่าสามสิบปี ตัวอย่างเช่น เรามีโรงเรียน(ที่เราคิดว่า)ดี วิชาแข็ง ต้องส่งลูกไปเรียนให้ได้แม้จะต้องจ่ายเงินค่าเทอมแพง ๆ แถมต้องตื่นตีสี่ตีห้าเพื่อไปโรงเรียน แต่สุดท้ายเด็กก็ต้องแห่ไปเรียนพิเศษกันตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยกเดียว แม้กระทั่งเด็กในโรงเรียนดัง ๆ ทั้งหลายที่ผู้คนพยายามตะเกียกตะกายส่งลูกหลานไปเรียนด้วย คำถามคือถ้าโรงเรียนสอนดีจริง ทำไมต้องระดมไปเรียนพิเศษกัน กลายเป็นเสียเงินสองต่อ

การขาดทักษะด้าน creativity ทำให้วิธีคิดในเรื่องต่าง ๆ ของทรัพยากรมนุษย์ของเราหมุนวนอยู่กับ "เรื่องเดิม ๆ" อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่คุ้นเคยที่จะคิดสิ่งใหม่หรือคิดที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ความขาดแคลนนี้กลายเป็นการสร้าง "อวิชชา" หรือความไม่รู้ขึ้นโดยปริยาย และเมื่อมีความไม่รู้ ความกลัวก็บังเกิด ดังนั้น เมื่อมีความคิดอะไรใหม่ ๆ ออกมาจึงยากที่จะสร้างการยอมรับ แม้ลึก ๆ ในใจหลายคนจะแอบคิดว่า "มันก็น่าจะดีนะ" ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จะพูดเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนว่า "ของเดิมมันดีอยู่แล้ว จะไปปรับปรุงแก้ไขมันทำไม" มีคนน้อยมากที่จะพูดออกมาดัง ๆ ว่า "ถ้าของเดิมมันดีอยู่แล้ว ทำไมมันจึงเกิดปัญหาขึ้นในอดีตล่ะ???" หรือ "ของเก่ามันมีปัญหาอยู่ทนโท่ ทำไมถึงจะไม่แก้ไขล่ะ!!!"

ความขาดแคลนด้าน collaboration ทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของเราวุ่นวายอยู่กับตัวเองมาก เพราะไม่รู้จักคนอื่น มีความเข้าอกเข้าใจในผู้อื่นน้อยมาก คิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่น เอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ กลายเป็นว่าทุกเรื่องถ้าไม่ชนะก็แพ้ ไม่มีใครอยากแพ้ จึงนำมาซึ่งการใช้อารมณ์หรือความรุนแรงในการตัดสินใจมากกว่าการใช้เหตุผลเพราะแพ้ไม่ได้ ทำให้ความรู้รักสามัคคีดังที่เคยมีอยู่อย่างเหนียวแน่นในสังคมไทยมาแต่เดิมเสื่อมคลายลงเรื่อย ๆ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างมากต่อการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม นอกจากนี้ การขาด collaboration ยังทำให้ทรัพยากรมนุษย์ของเราอยู่ร่วมในสังคมโลกได้ยากเย็นมากขึ้นเพราะเรารู้จักภาษา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชนชาติอื่นภาษาอื่นอย่างผิวเผิน แม้กระทั่งชนชาติที่มีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันที่สุดก็ตาม

ในฐานะผู้สังเกตการณ์สังคม ผู้เขียนมีความห่วงใยก้าวต่อไปในการพัฒนามนุษย์ของชาติเป็นอย่างมาก เพราะมนุษย์เป็นพลังอันแท้จริงในการขับเคลื่อนสังคมและการปฏิรูปประเทศชาติเพื่ออนาคต เราใช้เวลาเพื่อการพัฒนาในเรื่องนี้มากว่าสามสิบปีแล้ว และได้บทเรียนเป็นค่าเสียโอกาสของชาติอย่างหาค่ามิได้มานานพอแล้ว ผู้เขียนจึงเห็นว่าเราควรร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาวแล้วจูงมือกันเดินไปให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืนในระยะยาวทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง มากกว่าที่จะทำอะไรต่อมิอะไร "แบบเดิม ๆ" ที่ทำให้เราอยู่กับที่มาหลายสิบปี.

1 ความคิดเห็น: