วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

ดูงานเพื่อการพัฒนา โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

หลักการสำคัญประการหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 นั้นได้แก่การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการพัฒนาด้านต่าง ๆ



หากใครอ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะพบว่ามีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวอยู่หลายที่หลายแห่งมาก จนกระทั่งหลายท่านเข้าใจไปว่าเขียนซ้ำหรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เขียนซ้ำครับ แต่ "ย้ำ" ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องพื้นฐานของทุกสังคม ตั้งแต่ครอบครัว ญาติมิตร ชุมชน สังคม และประเทศชาติ และเมื่อมีส่วนร่วมแล้ว ที่ตามกันติด ๆ ก็คือการพูดคุยกันอย่างมีเหตุมีผล การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง การยอมรับกฎกติกา และการยอมรับเสียงข้างมาก เหล่านี้เป็น "จิตวิญญาณ" ของประชาธิปไตยครับ



ถ้าขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้นไป มันไม่ "เป็น" ประชาธิปไตยหรอกครับ ถึงคนพูดจะพร่ำคำว่าประชาธิปไตยตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงก็ตาม



ตอนนี้การดูงานในต่างประเทศของหลักสูตรต่าง ๆ กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคมว่าได้ผลไม่คุ้มค่า หลายท่านดูงานจนรู้จักเมืองเวนิสมากกว่าอำเภอบางคนทีเสียอีก จนหลายต่อหลายท่านเสนอให้ยกเลิกการดูงานไปเลยก็มีทั้งที่ตอนมีอำนาจท่านก็ไปดูงานบ่อย ๆ



ผมไม่ถึงกับเสนอให้เลิกครับ เพียงแต่จะเสนอให้ทำในประเทศแทน และเปลี่ยนวิธีดำเนินการเสียใหม่เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศและการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งให้บรรลุเป้าหมายของร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ



ผมเสนอว่าหลักสูตรต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักสูตรที่มีบุคลากรจากหลายหน่วยงานมารวมกันทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และเอกชนนั้น แทนที่จะไป "ดูงาน" ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ให้เปลี่ยนเป็นไป "ทำประชาคม" ร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ที่ยังขาดแคลนทั่วประเทศหลักสูตรละอย่างน้อย 1 ชุมชน ไปช่วยเขาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะพัฒนาชุมชนเป้าหมายอย่างไรให้กลับมามีชีวิตชีวา (revitalization) อย่างยั่งยืน (sustainability) เพราะคนที่เข้ารับการอบรมนี่ระดับอ๋องทั้งนั้นอยู่แล้ว รู้ว่ายุทธศาสตร์ชาติคืออะไร แนวทางปฏิรูปเป็นอย่างไร นโยบายรัฐบาลไปทางไหน ถ้าไปรวมหัวกันคิดกับประชาชนและชุมชนในท้องที่ว่าควรจะกำหนดทิศทางการพัฒนากันอย่างไร ผู้เข้ารับการอบรมซึ่งมาจากหน่วยงานต่าง ๆ จะได้รับรู้ปัญหาพื้นฐานของรากหญ้าจริง ๆ จะได้ช่วยกันปรับปรุงแก้ไขการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามากกว่าไปดูงานต่างประเทศ แล้วมาบ่นกันว่าบ้านเราทำอย่างเขาไม่ได้หรอก เอกชนที่เข้าร่วมการฝึกอบรมอาจให้ไอเดียดี ๆ ได้ด้วย เพราะผมสังเกตว่าเวลาผู้เข้ารับการอบรมอยู่ร่วมกันนั้น ทุกคนเป็นเพื่อนกัน ไม่มี "กรม" ไม่มีรัฐไม่มีเอกชนมาเป็นอุปสรรค และนั่นจะทำให้มีการบูรณาการในการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาเป้าหมายร่วมกันได้อย่างแท้จริง



อ้อ .. เวลาจัดประชาคมนี่อย่าจัดตามโรงแรมนะครับ ให้ไปทำในชุมชนเลย ไปแบบที่องค์กรภาคเอกชนเขาเข้าไปหาประชาชนน่ะ ไปแบบบ้าน ๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองอย่างราชการ เลิกเสียทีเถิด จะได้เป็นประชารัฐจริง ๆ



เมื่อทำอย่างว่านั้นแล้ว ให้ทำรายงานเสนอและเปิดเผยให้ประชาชนทราบทั่วไปด้วย แล้วให้ส่งรายงานนั้นไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเขาพิจารณาดำเนินการต่อไป



เดี๋ยวนี้หลักสูตรเยอะเหลือเกิน ถ้าให้ทำทุกหลักสูตร และห้ามซ้ำพื้นที่ ผมว่าสักสองสามปีก็ทั่วประเทศแล้วครับ ถ้าครบทั่วประเทศแล้วให้เริ่มหลักสูตรชั้นสูง เพื่อไปประเมินว่าที่ชุดแรกเขาทำไว้นั้นมันไม่สำเร็จเพราะอะไร จะแก้ไขอย่างไร ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ บ้านเมืองคงดีขึ้นสักวันนึงละน่า



ฝากไว้พิจารณาครับ.










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น