วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

นึกไม่ถึงจริง ๆ โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อวันก่อน คสช มีคำสั่งที่ 21/60 ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและลดภาระแก่ประชาชนหลายฉบับ

ในคำสั่งนั้นมีข้อหนึ่งที่กำหนดว่าในการอนุมัติ อนุญาต จดทะเบียน หรือจดแจ้งใด ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องยื่นเอกสารใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติอนุญาตฯนั้นติดต่อกับหน่วยงานผู้ออกเอกสารนั้นเอง เพื่อลดภาระของประชาชน เหตุผลก็คือมันเป็นเรื่องระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ทำไมต้องผลักภาระให้ประชาชนด้วยเล่า ยิ่งเดี๋ยวนี้ใช้ระบบออนไลน์กันทั้งนั้น ก็เชื่อมข้อมูลกันเข้าสิครับ จะรออะไร

นอกจากนี้ ข้อนั้นยังกำหนดด้วยว่าถ้าทางราชการประสงค์จะได้สำเนาเอกสารของทางราชการที่ประชาชนมีในครอบครอง ก็ให้ขอยืมประชาชนไปทำสำเนาเอาเองแทนที่จะต้องให้ประชาชนไปถ่ายสำเนามาให้ และจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชนไม่ได้ด้วยนะ เหตุผลก็คือประชาชนไม่มีเครื่องถ่ายสำเนาที่บ้านหรอกครับ แต่หน่วยงานของรัฐมี แถมเดี๋ยวนี้ใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือแสกนเป็น PDF file ได้อีก ทำไมจะต้องให้ประชาชนไปเสียสตางค์ด้วยเล่า

หลักการนี้ไม่ได้แปลกประหลาดอะไรเลย เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ในโลกเขาก็ทำ เสียงตอบรับในโซเชียลมีเดียยังบอกว่ารัฐบาลเพิ่งคิดได้หรืออย่างไร มันควรทำมาตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมามันเป็นภาระประชาชน

แต่เชื่อไหมครับว่ารุ่งเช้ามา มีคำถามเพียบจากหน่วยงานของรัฐว่าฉันปฏิบัติไม่ถูก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตไปซะงั้น

ผู้เขียนนึกไม่ถึงจริง ๆ นะครับว่าจะมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้ในยุคที่ทุกหน่วยงานมีอุปกรณ์ล้ำสมัยในการทำงานครบครัน แถมรัฐบาลยังมีนโยบายนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการประชาชนอย่างจริงจังเพื่อบรรลุเป้าหมาย 4.0

จะว่าไปเรื่องนี้เป็นทางปฏิบัติที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เพียงแต่ใช้การประสานงานระหว่างหน่วยงานผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออีเมล์ปกติก็ทำได้แล้ว ใช้มือถือสแกนส่งยังได้เลย แถมข้อมูลยังน่าเชื่อถือกว่าอีกเพราะมาจากหน่วยงานจริง ๆ อีกทั้งแต่ละหน่วยก็รู้อยู่แล้วว่าต้องใช้ข้อมูลจากหน่วยงานอื่นใดบ้าง หน่วยงานก็ติดต่อประสานงานกำหนดวิธีการขอและรับส่งข้อมูลกันเสียให้เรียบร้อยเท่านั้น จะให้เชื่อมระบบข้อมูลกันเพื่อการนี้ก็ยังได้ ถ้ามุ่งจะลดภาระแก่ประชาชนจริง ๆ

เมื่อลองมาวิเคราะห์ดูว่าเป็นเพราะเหตุใด ผู้เขียนพบว่าน่าจะมาจากการที่ระบบราชการไทยทำงานแบบ rule base คือทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด พอให้คิดเองว่าต้องทำอย่างไรเลยไม่มีกฎเกณฑ์กำกับให้ทำ แต่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ แค่นี้ก็ไปไม่เป็นเสียแล้ว

ในความเห็นของผู้เขียน ระบบการทำงานแบบนี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนา แค่ทำตามกฎเกณฑ์ชีวิตก็ไม่มีปัญหาแล้ว แถมได้คะแนนเต็ม 5 เสียอีก ทั้ง ๆ ที่ควรได้แค่ 1 คะแนนเท่านั้น เพราะไม่เกิด innovation ใด ๆ ที่พัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนเลย ประเทศก็ไม่พัฒนา

ไม่เชื่อลองไปดูคะแนนประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่าง ๆ ดูครับ คะแนนดีเด่นกันเกือบทั้งหน่วย ดีมากรองลงมา ดีเฉย ๆ เป็นเรื่องแปลก โครงสร้างความดีความชอบจึงเป็นปิระมิดหัวกลับ ตรรกะง่าย ๆ คือแต่ละหน่วยงานมีคนทำงานได้คะแนนดีเด่นเยอะแยะตาแป๊ะไก่ แต่ทำไมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่กระเตื้องขึ้นเลย มันจึงต้องผิดปกติแน่แล้ว

บางทีเราอาจต้อง brush up ระบบราชการอย่างจริงจังเสียที เปลี่ยนระบบการทำงานและระบบประเมินผลการทำงานกันใหม่ ไม่ต้องมีตัวชี้วัดอะไรให้มากมายวุ่นวายนัก เอาผลงานเป็นตัวชี้วัด มีการเปิดเผยขั้นตอนและระยะเวลาการทำงานให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ด้วยก็พอ ให้หน่วยงานคิดนวัตกรรมการทำงานเพื่อลดภาระหรือต้นทุนให้แก่ประชาชนแข่งกัน ใครทำไม่ได้ก็จับไปอบรม กลับมาแล้วทำไม่ได้อีกก็ลงโทษกันไป

Impossible is nothing ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น