วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง 2 โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตระหนักดีว่ามนุษย์เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของชาติ ถ้าเราสามารถสร้างคนที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีเหตุมีผล รู้ผิดชอบชั่วดี ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมส่วนรวมได้ ประเทศชาติก็จะมีความสงบสุขและพัฒนาต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

จากข้อมูลของทุกประเทศทั่วโลก เราพบว่าอัตราประชากรต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นแตกต่างกันมากมายมหาศาล เช่น ประเทศไทยมีพลเมืองในราว 66 ล้านคน แต่มีตำรวจในราวสองแสนนาย ญี่ปุ่นมีพลเมืองราว 125 ล้านคน แต่มีตำรวจในราวสามแสนนาย เป็นต้น ข้อเท็จจริงข้างต้นชี้ชัดว่าการที่สังคมมีความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อยจึงไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของตำรวจ หากแต่อยู่ที่ "คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์" ของแต่ละประเทศ ถ้าประเทศใดมีพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ ปัญหาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ก็จะลดน้อยลง เอาเวลาไปพัฒนาประเทศได้

ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และมีความสำคัญเร่งด่วนลำดับแรก 

อย่างไรก็ดี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ใช่การพัฒนาการศึกษาอย่างเดียว หากแต่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและชุมชน รวมทั้งค่านิยมต่าง ของสังคมด้วยเพราะมนุษย์อยู่รวมกันเป็นครอบครัว เป็นชุมชน เป็นสังคม เราจึงไม่อาจพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการพัฒนาการศึกษาอย่างเดียวได้ แต่ต้องพัฒนาแบบองค์รวม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญการพัฒนามนุษย์ในภาพรวมต้องใช้เวลาดำเนินการเพราะนอกจากต้องลบล้างความคิดผิด ที่เคยถูกปลูกฝังกันมานมนานแล้ว เช่น กฎมีไว้แหก ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ แป๊บนึงไม่เป็นไรหรอก คนอื่นเขาก็ทำกันทั้งนั้นไม่เห็นจะเป็นไรเลย ถ้าพวกนั้นทำได้ ฉันก็ทำได้ ไม่มีใครเห็นหรอก ฯลฯ  เรายังต้องบ่มเพาะทัศนคติที่ถูกต้องไปพร้อม กันด้วย ซึ่งงานแบบนี้ยากมาก และแตกต่างจากงานโครงการที่เห็นผลทันตา

กล่าวเฉพาะด้านการศึกษา ผู้เขียนติดตามวิธีการคิดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กในวัยเรียน จึงได้พบว่าประเทศที่เด็กมีความสามารถสูงเขามีหลักคิดตรงกันคือ "ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" ไม่ใช่คิดแบบยึดครูหรือกระทรวงการศึกษาเป็นศูนย์กลาง 

เมื่อยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เขาจะคิดจากเด็กออกไป แล้วเขาก็พบว่าเด็กแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะ ความชอบ และความถนัดแตกต่างกันไป ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง ไอน์สไตน์เล่นบาสสู้ไมเคิล จอร์แดน ไม่ได้แน่ๆ เชฟมิชลินสามดาวทั่วโลกไม่สามารถวิ่ง 100 เมตร ชนะลูเซียง โบลท์ และแน่นอนคงยากที่มาร์ค ซักเคอร์เบอร์ก จะกลึงโลหะให้เนียนเหมือนช่างกลึงแถวบ้านหม้อ ดังนั้น วิธีจัดการศึกษาของเขาจึงมิใช่การจัดแบบ one size fits all หากต้องจัดให้เด็กได้รับการพัฒนาให้ตรงตามบุคลิก ความชอบ และความถนัดของแต่ละคน พูดง่าย คือ ชอบทางไหน ส่งเสริมเขาไปทางนั้น เพราะเมื่อเขารักเขาชอบเขาถนัด เขาจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และจะทำได้ดี แล้วพอเรียนจบภาคบังคับที่เน้นทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และการเป็นพลเมืองดี พวกเขาก็สามารถออกไปประกอบอาชีพที่ชอบได้เลย เป็น start-up แล้วรัฐก็ส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพที่หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ Creative economy ครูตามวิธีคิดแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้สอน (teacher) แต่เป็นผู้ที่คอยสังเกตสังกา ชี้แนะ และส่งเสริม (instructor) ให้เด็กเดินไปในทางที่เขามีแวว 

โดยวิธีคิดนี้หลายประเทศสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจของเขาจากระบบเศรษฐกิจของผู้ใช้แรงงาน ไปเป็นระบบเศรษฐกิจของผู้ประกอบการทั้งเล็ก-กลาง-ใหญ่ได้ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน จึงไม่ต้องแปลกใจครับว่าทำไมประเทศที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางเขาจึงมีผู้ประกอบการ SMEs มากมายจนเราอยากเลียนแบบ แต่ความสำเร็จที่ว่านี้ก็ไม่ได้มาชั่วข้ามคืนนะครับ ปั้นคนต้องค่อย ปั้น ทุกคนมีวิถีของตัวเอง ไม่มีสำเร็จรูปแบบบะหมี่หรอก

ทราบไหมครับว่าหัวเรียวงามของรถไฟชินกันเซนอันทันสมัยไฮเทคน่ะ มันดีไซน์โดยคอมพิวเตอร์ แต่การทำมันออกมาจริง น่ะฝีมือช่างกลโรงงานล้วน ตีด้วยมือนะครับ ตอนนี้กำลังมีปัญหาว่าช่างที่มีอยู่นี่อายุมากแล้ว ผลิตคนมาแทนไม่รู้จะทันหรือเปล่า

ตรงข้ามครับ ถ้าเราจะพัฒนาการศึกษา แต่ยังยึดครูและกระทรวงการศึกษาเป็นตัวตั้ง เขาก็จะมองและคิดแก้ไขปัญหาของเขาก่อน ปรับปรุงโครงสร้าง ตำแหน่ง อัตรา ค่าตอบแทน หลักสูตร ตำรา วิธีการเรียนการสอน วิธีการประเมินผล การใช้เทคโนโลยีล้ำเลิศเขามาใช้ ฯลฯ เป็นสำคัญ นัยว่าถ้าบรรดาเรื่องเหล่านี้ปรับปรุงสำเร็จ เด็กจะได้รับการพัฒนาดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งในทัศนะของผู้เขียน มันยากที่จะเป็นไปได้ และข้อเท็จจริงที่ประสบมาในชีวิต ผู้เขียนว่าทุกคนสามารถยืนยันได้ว่าความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาที่ยึดครูและกระทรวงการศึกษาเป็นตัวตั้งไม่เคยเกิดขึ้นจริงไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้

เรามาเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำกันดีกว่าครับ ปล่อยช้าไปไม่ได้แล้ว คนอื่นเขาเดินไปข้างหน้ากันไกลแล้ว เหนื่อยก็ต้องทำ



ลูกหลานของเราทั้งนั้นครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น