วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การวางแผนการใช้ที่ดิน: เครื่องมือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดย นายรักไท เทพปัญญา

นายรักไท เทพปัญญา
นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยได้ประสบกับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 โดยมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมถึง 64 จังหวัด มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,953,854 ครัวเรือน และในปัจจุบันประเทศไทยก็ยังคงเผชิญหน้ากับภัยน้ำท่วมอยู่ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 28-29 ก.ค. 2560 มีการสรุปเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่ามีจังหวัดที่ประสบเหตุน้ำท่วมอยู่ 11 จังหวัด

                   การสนองตอบต่อเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งสองครั้งดังกล่าวนั้น นักวิชาการออกมาเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ผังเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งการวางแผนการใช้ที่ดินเป็นแนวทางที่ยอมรับกันในระดับสากล ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับแนวทางดังกล่าว จึงจัดทำบทความนี้ขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของการวางแผนการใช้ที่ดินหรือผังเมืองกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยสังเขป

                   น้ำท่วมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล และในอดีตมนุษย์ก็ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับวงจรน้ำท่วม ซึ่งรูปแบบของการปรับตัวนั้นมีตั้งแต่การหลบหนีให้พ้นจากน้ำท่วมไปจนถึงการนำเทคโนโลยีพื้นฐานมาเพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำท่วมในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างของการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับวงจรน้ำท่วมในอดีตก็เช่นการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำไนล์ในสมัยอียิปต์โบราณ (Dan Tarlock, 2012, น. 155) และหากย้อนกลับไปพิจารณาการพัฒนาชุมชนในประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่าพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) เป็นพื้นที่สำหรับมนุษย์ในการตั้งถิ่นฐานหลักแหล่ง โดยเหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะพื้นที่ดังกล่าวสร้างโอกาสหลายประการไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (APFM, 2016, น. 1)

                   อย่างไรก็ดี การตั้งรกรากถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งของมนุษย์เองก็เป็นข้อจำกัดให้มนุษย์ไม่สามารถนำกลยุทธ์การหลบหนีมาใช้ได้เสมอไป จึงเกิดเป็นความต้องการก่อสร้างเขื่อนสำหรับป้องกันน้ำท่วม อันจัดได้ว่าเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยใช้สิ่งก่อสร้าง (structural measure) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งนอกจากวิธีการดังกล่าวแล้วยังมีมาตรการที่อาศัยสิ่งก่อสร้างในรูปแบบอื่นอีก เช่น การปรับปรุงสภาพลำน้ำ (channel modifications) การทำเส้นทางน้ำอ้อมเมือง (by-pass floodways) การทำพื้นที่ชะลอน้ำและแหล่งเก็บกักน้ำท่วม (retarding basins and flood storage areas) อ่างเก็บน้ำบรรเทาน้ำท่วม (flood mitigation reservoirs) หรือการปรับปรุงระบบระบายน้ำ (ชูโชค อายุพงศ์, 2012)

                    สำหรับมาตรการที่อาศัยสิ่งก่อสร้างอย่างเช่นเขื่อนกั้นน้ำไม่สามารถป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมได้ทั้งหมด หากจะทำได้ก็แต่เพียงการบรรเทาความเสียหายเท่านั้น (Dan Tarlock, 2012, น. 165)  และในทางกลับกัน การแก้ไขปัญหาโดยมาตรการดังกล่าวเพียงอย่างเดียวยังกลับก่อให้เกิดผลตรงกันข้ามโดยทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย  

                   เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการสร้างแนวป้องกันพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงก่อให้เกิดปัญหาภาวะภัยทางศีลธรรมแบบคลาสสิค (classic moral hazard problem) โดยในประเด็นนี้ Gilbert F. White อดีตศาสตราจารย์สาขาวิชาภูมิศาสตร์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการบริหารจัดการพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง ได้อธิบายเอาไว้ว่า มาตรการป้องกันน้ำท่วมโดยอาศัยสิ่งก่อสร้างทำให้ภาครัฐและภาคเอกชน "มีความคาดหวัง" ว่าเขื่อนกั้นน้ำจะสามารถปกป้องพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงจากน้ำท่วมได้ กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว และเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมขึ้น (เนื่องจากในบางครั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไม่อาจป้องกันน้ำได้ทุกกรณี ซึ่งอาจเป็นเพราะปริมาณน้ำที่มากกว่าปกติในบางปีหรือเหตุปัจจัยอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่แม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ในปี ค.ศ. 1927 เป็นผลให้เกิดความล้มเหลวกับเขื่อนกั้นน้ำและพื้นที่ 27,000 ตารางไมล์ ถูกน้ำท่วม (Dan Tarlock, 2012, น. 159) ก็ย่อมทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมรุนแรงขึ้นตามการพัฒนาพื้นที่ไปด้วย

                    ด้วยเหตุนี้ การเพิ่มระดับการป้องกันจึงมีผลในทางตรงกันข้าม โดยเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้กล้าเสี่ยงที่จะพัฒนาพื้นที่ และเป็นการเพิ่มจำนวนชีวิตและทรัพย์สินที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ทั้งที่ก่อนจะมีการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำแรงจูงใจในการพัฒนาพื้นที่ได้ถูกบั่นทอนลงโดยภัยคุกคามจากน้ำท่วม (Dan Tarlock, 2012, น. 167)

                    ดังนั้น ขนาดของปัญหาน้ำท่วมโดยหลักแล้วจึงเป็นผลมาจากการที่คนรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงโดยไม่มีมาตรการใด ๆ ป้องกันนั่นเอง (Depaul university, 1963, น. 247)

                    นอกจากนี้ การกำเนิดของเมือง (urbanization) ยังก่อให้เกิดการทำลายการระบายน้ำตามธรรมชาติอันเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ดิน และเมื่อเส้นทางน้ำธรรมชาติถูกทำลายลงแล้วก็จะเกิดความสูญเสียในการกักเก็บน้ำไหลบ่าตามธรรมชาติโดยพืชและดินไปด้วย การเปลี่ยนแปลงพื้นผิวตามธรรมชาติจากเดิมที่พืชปกคลุมให้เป็นพื้นดาดแข็งนั้นทำให้อัตราและปริมาตรน้ำไหลบ่าโดยรวมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันความสามารถในการระเหยของน้ำขึ้นสู่บรรยากาศลดลงเช่นเดียวกันกับความสามารถในการกักเก็บน้ำของดิน ส่งผลให้ความเสี่ยงของน้ำท่วมในเขตเมืองสูงขึ้น (วรารัตน์ กรอิสรานุกูล และคณะ, 2556, น. 18)

                   แนวทางในการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงนั้นมีอยู่หลายประการ แต่วิธีการหนึ่งที่สำคัญได้แก่การนำการวางแผนการใช้ที่ดิน (land use planning) มาควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ในบริเวณพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยกฎเกณฑ์การใช้ที่ดินบริเวณพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง (
floodplain land use regulation) สามารถเป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อลดความเปราะบางต่อน้ำท่วมและความเสี่ยงน้ำท่วม (vulnerability and exposure) และยังเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับยุทธ์ศาสตร์การรักษาทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงได้ด้วย (AFPM, 2016, น. 32)

                    ตัวอย่างของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงก็เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมของเมือง Brookhaven ในมลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา (การวางแผนการใช้ที่ดินของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยทั่วไปแล้วอยู่ในเขตอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ซึ่งข้อบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อ
                    1. ควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดินในประการที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และทรัพย์สินจากน้ำท่วมหรือภัยจากการกัดเซาะ หรือที่ส่งผลเป็นการเพิ่มความเสียหายจากการกัดเซาะ หรือเพิ่มความสูงหรือความเร็วของน้ำท่วม
                    2. กำหนดให้การใช้ประโยชน์ในที่ดินในประการที่เปราะบางต่อน้ำท่วมตลอดจนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อการใช้ประโยชน์ดังกล่าวต้องมีการป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมตั้งแต่เวลาที่เริ่มต้นก่อสร้าง
                    3. ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติของที่ราบน้ำท่วมถึง ช่องทางเดินน้ำ และสิ่งกีดขวางทางน้ำตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องในการพักน้ำที่ท่วม (accommodation of floodwaters)
                    4. ควบคุมการถมดิน การปรับระดับที่ดิน การขุดลอกดิน (land dredging) และการพัฒนาที่ดินประการอื่นที่อาจเพิ่มการกัดเซาะหรือเพิ่มความเสียหายจากน้ำท่วม
                    5. ควบคุมการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมที่จะเปลี่ยนทางไหลของน้ำอย่างไม่เป็นธรรมชาติหรืออาจเพิ่มอันตรายจากน้ำท่วมแก่ที่ดินผืนอื่น เป็นต้น

                   เครื่องมือที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ “การทำโซนนิ่งพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง” (floodplain zoning) เพื่อให้การใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นไปโดยเหมาะสมกับอันตรายจากน้ำท่วมเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากน้ำท่วมให้น้อยที่สุด โดยการโซนนิ่งพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงนี้อาจใช้วิธีการพิจารณาความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงน้ำท่วมของพื้นที่ (risk-sensitive approach) และข้อจำกัดการใช้ที่ดินในพื้นที่ใดจะมีความเข้มงวดเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงน้ำท่วมที่เขตพื้นที่นั้นมีอยู่  ทั้งนี้ ในการจำแนกเขตน้ำท่วม (flood zone classification) สามารถทำได้โดยการพิจารณาความน่าจะเป็นของการเกิดน้ำท่วมที่สูงกว่าน้ำท่วมเฉลี่ยรายปี (average annual flood exceedance probabilities) ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้โอกาสเกิดน้ำท่วมในหนึ่งร้อยปี (100 year flood) อันจะสะท้อนโอกาสเกิดน้ำท่วมที่สูงกว่าน้ำท่วมเฉลี่ยรายปี 1% และจากการจำแนกเขตน้ำท่วมดังกล่าวก็จะนำมาใช้เป็นฐานในการกำหนดมาตรการกำกับดูแลสำหรับแต่ละเขต เช่น ในเขตพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงน้ำท่วมสูง จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเพื่อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน

                    ดังนั้น ลักษณะของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่พึงปราถนาในเขตพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงก็จะถูกกำหนดให้สอดคล้องกับระดับความอันตรายของน้ำท่วม

                    ตัวอย่างของการจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามระดับความอันตรายของน้ำท่วมของพื้นที่ เช่น (APFM, 2016, น. 48-49)
                   1. พื้นที่ซึ่งมีความอันตรายสูงมาก อาจใช้เป็นพื้นที่ว่าง (open space environment) พื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ (recreation) หรือพื้นที่ชนบท (rural area)
                    2. พื้นที่ซึ่งมีความอันตรายสูง นอกจากสามารถใช้ประโยชน์ตาม 1. ได้แล้ว ยังอาจใช้พื้นที่สำหรับการพาณิชย์ เป็นสถานที่ตั้งสโมสร (clubs) และใช้พื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมได้ภายใต้ข้อกำหนดควบคุมพิเศษ
                    3. พื้นที่ซึ่งมีความอันตรายปานกลาง นอกจากสามารถใช้ประโยชน์ตาม 1. และ 2. ได้แล้วยังอาจใช้พื้นที่สำหรับสร้างโรงเรียนได้ภายใต้ข้อกำหนดควบคุมพิเศษ นอกจากนี้ยังอาจใช้เป็นที่ตั้งอาคารสาธารณะ ที่จอดรถบ้าน (caravan parks) หรือสถานีตำรวจ เป็นต้น ได้อีก
                    4. พื้นที่ซึ่งมีความอันตรายต่ำ นอกจากสามารถใช้ประโยชน์ตาม 1. 2. และ 3. ได้แล้ว ยังอาจใช้พื้นที่สำหรับเป็นที่ตั้งโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา พิพิธภัณฑ์ หรือห้องสมุด เป็นต้น ได้อีก

                    ในบางเขตพื้นที่ยังอาจกำหนดเป็นเขตห้ามก่อสร้างหรือแม้กระทั่งอาจรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วได้ โดยเฉพาะกรณีภายหลังจากที่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมแล้วและต้นทุนและความยั่งยืนของการบูรณะสิ่งก่อสร้างดังกล่าวจะไม่เป็นที่พึงประสงค์

                    นอกจากการโซนนิ่งน้ำท่วมแล้วยังอาจนำการขออนุญาตใช้ที่ดิน (planning permits) มาใช้เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานหรือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่มีขึ้นเพื่อจำกัดหรือลดความเสี่ยงจากน้ำท่วม โดยกิจกรรมบางอย่างในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงหรือที่จะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงน้ำท่วม เช่น การเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ที่ดินให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น (intensification of land use) การก่อสร้างอาคาร เช่น ที่อยู่อาศัย อาคารเพื่อการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม เขื่อนกั้นน้ำ รั้ว หรือถนน เป็นต้น อาจอยู่ภายใต้ระบบอนุญาตได้ (APFM, 2016, น. 51)

                    สำหรับการใช้ที่ดินที่มีอยู่แล้วก่อนซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อจำกัดการใช้ที่ดินที่กำหนดขึ้นใหม่เพื่อป้องกันน้ำท่วม (nonconforming uses) นั้น อาจแก้ไขปัญหาตามแนวทางกฎหมายผังเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะอาศัยบทบัญญัติบางประการเพื่อทำให้การใช้ที่ดินนั้นในท้ายที่สุดแล้วเป็นไปโดยสอดคล้องกับข้อจำกัดการใช้ที่ดิน โดยอาจแก้ไข nonconforming uses ด้วยการกำหนดให้ยกเลิกการใช้พื้นที่ที่มีอยู่เดิมภายหลังจากที่ผ่านระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ (amortization period) กำหนดให้กรณีที่ไม่ได้ใช้พื้นที่ตามวัตถุประสงค์ที่เคยใช้เดิมภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วจะไม่สามารถใช้พื้นที่เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้อีก หรือกำหนดให้กรณีที่สิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายก็จะไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ เป็นต้น (Vermont Law School, 2012 น. 45)

                    ในการนำหลัก nonconforming uses มาใช้กับการแก้ไขปัญหาในที่ราบน้ำท่วมถึงนั้นอาจกำหนดให้อาคารต้องเป็นไปตามมาตรฐานเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคารในสาระสำคัญ หรือกำหนดห้ามการก่อสร้างขึ้นใหม่หรือห้ามการใช้อีกต่อไปหากมูลค่าได้ลดลงไปอย่างมากหรือจำเป็นจะต้องมีการซ่อมแซม เป็นต้น

                    ตัวอย่างของการใช้ Nonconforming uses ก็เช่น ในเมือง Blaine ซึ่งอยู่ในมลรัฐ Minnesota ได้กำหนดให้หากสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิมถูกทำลายโดยน้ำท่วมและได้รับความเสียหายมากกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่าตลาด ก็จะไม่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวขึ้นใหม่ได้เว้นเสียแต่ว่าการปลูกสร้างจะเป็นไปโดยสอดคล้องกับข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยโซนนิ่งของเมืองที่ได้กำหนดขึ้นใหม่แล้ว (Vermont Law School, 2012 น. 45-46)  

                    จากข้อมูลเบื้องต้นและตัวอย่างเกี่ยวกับการวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง ข้างต้น จึงแสดงให้เห็นภาพได้ว่าการวางแผนการใช้ที่ดินสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยการจำแนกเขตพื้นที่ตามระดับความเสี่ยงน้ำท่วมและการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ที่ดินในแต่ละเขตพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงน้ำท่วม ก็ย่อมสามารถที่จะแก้ไขปัญหาการรุกล้ำเขตพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงซึ่งควรจะสงวนไว้เป็นพื้นที่ว่าง อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของปัญหาน้ำท่วม และสามารถควบคุมกิจกรรมบนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมเพื่อลดหรือจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วมได้

                    โดยสรุป การวางแผนการใช้ที่ดินอาจสนองตอบต่อปัญหาน้ำท่วมได้ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น สำหรับในประเทศไทยเองนักวิชาการด้านการจัดการภัยพิบัติก็มีการเรียกร้องให้ทำการจัดระเบียบผังเมืองอย่างจริงจัง โดยเห็นว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 อีกทั้งด้วยการเจริญเติบโตของเมืองทำให้มีการเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ว่างและเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมขึ้นก็ทำให้ผู้คนรวมทั้งอาคารบ้านเรือนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย  ดังนั้น การวางแผนการใช้ที่ดินโดยประสานรวมเข้ากับแผนการบริหารจัดการน้ำท่วมจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่อาจนำมาใช้ในการลดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมที่ประเทศไทยเผชิญอยู่

                    มีข้อสังเกตว่า แม้จะมีการวางแผนการใช้ที่ดินที่ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบเพียงใด แต่หากปราศจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรุกล้ำพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงน้ำท่วมและปล่อยให้มีการพัฒนาพื้นที่จนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงหรือมีผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น แต่ไม่เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงน้ำท่วมอันเป็นปัญหาภัยภาวะทางศีลธรรมดังที่ Gilbert F. White ได้เสนอไว้ การจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุอุทกภัยก็ไม่อาจประสบผลสำเร็จได้  ดังนั้น ความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐตลอดจนความร่วมมือของภาคเอกชนและประชาชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยเช่นกัน

                   

เอกสารอ้างอิง
1. Dan Tarlock, United States Flood Control Policy: The Incomplete Transition from the Illusion of Total Protection to Risk Management, Duke Environmental Law & Policy Forum, vol. 23:252, fall 2012.
2. DePaul College of Law, State Flood-Plain Zoning, 12 DePaul L. Rev. (1963).
3. Associated Programme on Flood Management (APFM), the role of land-use planning in flood management, 2016.
4. UFCOP, Land use planning for urban flood risk management, April 2017.
5. Vermont Law School Land Use Clinic, Municipal Flood Control Regulation: Legal Opportunities and Risks, August 2012.
6. ร.ศ. ชูโชค อายุพงศ์, มาตรการบริหารจัดการภัยน้ำท่วม, หน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2012.
7. วนารัตน์ กรอิรานุกูล และคณะ, แนวทางการวางแผนด้านผังเมืองเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีศึกษาปัญหาน้ำท่วมและแนวทางการจัดการน้ำท่วมในเขตผังเมืองรวมพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี, มิถุนายน 2556.  

8. http://ecode360.com/8592514 (Flood Damage Prevention Ordinance of Town of Brookhaven)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น