วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

Blockchain for Government โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อเช้าผู้เขียนขับรถมาทำงานตามหลังรถกระบะคันหนึ่งที่บรรทุกคนงานมาเต็มคัน ตอนติดไฟแดงที่แยกอรุณอัมรินทร์ก็สังเกตว่าทุกคนที่ท้ายกระบะนั่งกันเงียบ ไม่พูดไม่คุยกัน แต่ที่เหมือนกันคือทุกคนกำโทรศัพท์ไว้ในมือและฟังหูฟัง มีบ้างบางคนทำปากมุบมิบเหมือนจะร้องเพลงตามไปด้วย บางคนก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ไปยิ้มไปหัวเราะไปอยู่คนเดียว มีรถกระบะอีกสองสามคันเหมือนบรรทุกของจะไปส่งลูกค้าจอดติดไฟแดงอยู่ใกล้ ๆ กัน ก็เห็นเด็กท้ายรถสองสามคนในรถแต่ละคันก็มีท่าทีทำนองเดียวกัน

เมื่อขับเลยมาถึงป้ายรถเมล์เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ผู้เขียนก็สังเกตเห็นว่าคนรุ่นหนุ่มสาวและเด็กนักเรียนเกือบทุกคนก็มี "โลกส่วนตัว" เหมือนคนงานท้ายรถกระบะเปี๊ยบ คงมีแต่รุ่นใหญ่มาก ๆ เท่านั้นที่ไม่มีหูฟังเสียบหู แต่จำนวนมากของรุ่นใหญ่ ณ ป้ายรถเมล์เมื่อเช้าก็ไถหรือจิ้มโทรศัพท์กันอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะนั่งหรือยืน

ผู้คนจำนวนมากเรียกสภาพเช่นนี้ว่า "สังคมก้มหน้า"  แล้วก็ "ปล่อยมันไป"

แต่ผู้เขียนเห็นว่าการที่ทุกคนต่างมี "โลกส่วนตัว" เช่นนี้ มันน่าจะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ

ในด้านเศรษฐกิจ ผู้เขียนว่าการที่ประชาชนแต่ละคนมี "โลกส่วนตัว" สูง มีผลกระทบต่อระบบการผลิตสินค้าและการให้บริการโดยตรง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตแบบเดียวกันจำนวนมาก ๆ หรือแมสโพรดักอย่างที่เราพบเห็นกันมาสามสี่สิบปีก่อน จะเป็นที่ต้องการของตลาดน้อยลงไปเรื่อย ๆ โดยโลกส่วนตัวของแต่ละคนจะทำให้สินค้าประเภทผลิตตามที่ฉันต้องการ (made to order) ได้รับความนิยมมากขึ้น และจะส่งผลให้สินค้าที่ผลิตได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคนนั้นมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ดังนี้ การผลิตสินค้าตามที่ฉันต้องการจึงมีแนวโน้มที่จะไปได้สวย และในการผลิตสินค้าแบบนี้ การใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่มีความฉลาดและความแม่นยำสูงในกระบวนการผลิตจะตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้ดีกว่าการใช้แรงงานมนุษย์ ทั้งยังสามารถควบคุมต้นทุนในกระบวนการผลิตได้ดีกว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จึงจะเข้ามาทดแทนแรงงานคนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในทัศนะของผู้เขียน คำว่า "ตลาดแรงงาน" เป็นคำที่ออกจะไม่ทันสมัยแล้ว เพราะไม่แน่ว่าต่อจากนี้ไป จะมีงานแบบที่ต้องใช้แรงคนทำเหลืออีกกี่มากน้อย แต่ที่ต้องใช้มากก็คือ "ความคิดสร้างสรรค์" และ "ความใฝ่รู้"

การให้บริการด้านต่าง ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นเดียวกับการผลิต ลูกค้าจะมาใช้บริการจากผู้ให้บริการซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของตัวเองได้มากกว่าที่จะใช้บริการที่เหมือน ๆ กับคนอื่น เรียกว่านอกจากจะต้องมีจิตบริการ (service mind) แล้ว ยังต้องมีความรักอย่างหลงใหล (passion) ในงานที่ตัวทำ รวมทั้งต้องสามารถอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเข้าอกเข้าใจ (collaboration) ด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการที่จะ "ได้ไปต่อ" และ "ไปได้ดี" ในอนาคต ต้องรู้จักวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) เพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการที่ "ตอบโจทย์" ลูกค้าที่มีโลกส่วนตัวหลากหลายมาก ต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูง สามารถสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อนำเสนอต่อลูกค้า ต้องก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวเร็ว เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีผลต่อโลกส่วนตัวของลูกค้าอย่างมาก ลูกค้าสามารถเปลี่ยนใจได้ง่าย ๆ

ในทางสังคม แม้โลกส่วนตัวจะช่วยให้เราคุยกับคนอื่นได้มากขึ้น แต่คนอื่นที่ว่านี้คือใครก็ไม่รู้ ที่แน่ ๆ หาใช่คนในครอบครัวไม่ ข้อเท็จจริงก็คือคนในครอบครัวคุยกันน้อยลง คุยกับคนอื่นเสียมาก

ท่านผู้อ่านก็คงเคยเห็นบ่อย ๆ นะครับว่าพ่อ แม่ ลูกไปกินข้าวในร้านอาหาร ใน พ.ศ. นี้เขาจะกินกันแบบเงียบกริบ จะมีเสียงบ้างก็ตอนบริกรนำอาหารมาเสริฟร์แล้วต่างคนต่างแย่งกันถ่ายรูปเพื่ออัปโหลดไปในโซเชียลเน็ตเวอร์ค หลังจากนั้นก็นั่งกินกันไปถูโทรศัพท์ไปเงียบ ๆ ถูกันคนละเครื่องสองเครื่อง พูดกันแบบไม่มองหน้ากัน พฤติกรรมเช่นนี้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคมมาก ความสัมพันธ์อันแนบแน่นเลือนหายไปเรื่อย ๆ การถ่ายทอดความรักความห่วงหาอาทรต่อกันอย่างใกล้ชิดในครอบครัวกลายเป็นพิธีการ การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ระหว่างรุ่นสู่รุ่นผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวน้อยลง

ที่สำคัญ ผู้เขียนพบว่าการมีโลกส่วนตัวสูงทำให้ผู้คนสนใจหรือใส่ใจในผู้อื่นน้อยลง และยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาตัวเองเป็นหลักไว้ก่อน ทำอะไรโดยไม่สนใจคนอื่น ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติจะเป็นอย่างไร อาทิ การขับขี่รถจักรยานยนต์สวนทางหรือจอดในที่ห้ามดังที่เห็นกันดาษดื่น

จะว่าไประบบราชการเองก็ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาแบบเอ็กซ์โพเนนเชียลของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดโลกส่วนตัวของประชาชนไม่น้อย ทั้งที่จริงแล้วควรได้รับผลกระทบไม่มากนัก

เหตุผลก็คือระบบราชการเป็นระบบที่ยึดกระบวนการ (process) เป็นหลักในการทำงาน  ดังนั้น หากนำเทคโนโลยีที่ทันยุคทันสมัยมาใช้ในการทำงาน ก็ยิ่งจะทำให้กระบวนการทำงานของภาคราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม่นยำมากขึ้น ลดต้นทุนของภาครัฐและลดภาระของประชาชนลงได้มาก ทั้งจะก่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ถ้าดูผิวเผิน ประหนึ่งว่าระบบราชการของเราเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี เพราะแทบทุกหน่วยมีอุปกรณ์อันทันสมัยเต็มไปหมด จนบางครั้งผู้เขียนเองก็ยังรู้สึกว่ามันจะเยอะไปไหน แต่จริง ๆ แล้วปรากฏว่ามีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานของระบบราชการน้อยมาก ส่วนใหญ่ของรายจ่ายทางเทคโนโลยีเป็นการจัดซื้อ Hardware และการบำรุงรักษา มากกว่ารายจ่ายเพื่อการพัฒนา Software เพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพและโปร่งใส

นอกจากนี้ กระบวนการทำงานของแต่ละหน่วยนั้นก็ยังไม่เชื่อมโยงหรือที่เรียกกันแก๋ ๆ ว่า "บูรณาการ" กันจริง ๆ ยังต่างคนต่างทำ หรือ stand alone คือไม่สามารถรองรับการต่อเนื่องเชื่อมโยงกระบวนการทำงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นได้ ซึ่งนั่นทำให้หน่วยงานของรัฐต้องเรียกให้ผู้ขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ สำเนาโฉนดที่ดิน ฯลฯ ไปพร้อมกับใบคำขอเสมอทั้ง ๆ ที่เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ เพียงแต่เป็นคนละหน่วยเท่านั้นเอง ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ขำไม่ออกสำหรับคนไทยมานานมาก

การขาดกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันนี้เอง ทำให้ดูประหนึ่งว่ารัฐมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) แต่จริง ๆ แล้วเป็นข้อมูลที่มีอยู่แบบกระพร่องกระแพร่งและเป็นถังแยกต่างหากจากกัน การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่ผ่าน ๆ มาเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายและการตัดสินใจจึงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้การวางนโยบายทำได้เพียงในรูปแบบของการตัดเสื้อโหล (One size fits all) ซึ่งแม้จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม แต่ก็เป็นไปอย่างกว้าง ๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาในระดับครัวเรือนได้อย่างแท้จริงเหมือนอย่างที่ประเทศจีนเขาทำ ทั้งไม่สามารถติดตามได้ว่าการดำเนินการลุล่วงไปถึงไหนแล้ว กว่าจะรู้ว่ามีการรั่วไหลหรือทำงานไม่ตรงเป้าก็เมื่อมีการปิดบัญชีซึ่งล่าช้ามาก ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว นำไปสู่การกล่าวหา ร้องเรียน ฟ้องร้องกันนัวเนียไปหมด จนกลายเป็นแตกความสามัคคี

การขาดกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องเชื่อมโยงนี้จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการแตกแยกขึ้นในบ้านเมืองนะครับ

ที่ผ่านมาระบบราชการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้าง อัตรากำลัง และงบประมาณ มากกว่าการพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพโดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เรื่องนี้เราตรงข้ามกับประเทศที่พัฒนาแล้วเลยนะครับ ระบบราชการเขาเน้นจิ๋วแต่แจ๋ว คือมีกำลังคนเพียงเท่าที่จำเป็น แล้วนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ติดตามสถานะของเรื่องได้ทุกขั้นตอน ความต่างนี้จะเกิดขึ้นเพราะเหตุใดผู้เขียนก็ไม่ทราบ หรือเราเน้นมีคนเยอะ ๆ ไว้ดูยิ่งใหญ่ดีก็ไม่รู้ได้

สำหรับคำขอคลาสสิคคือคนไม่พอ ขอคนเพิ่ม เพิ่มคนก็ต้องเพิ่มตำแหน่ง ขอตำแหน่งเพิ่มด้วย ตำแหน่งมาแล้ว ก็ต้องขอเงินเพิ่มด้วย เพิ่มจนกระทั่งงบประมาณรายจ่ายประจำโป่งเป็นบอลลูนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปวดตับของทุกรัฐบาล

ตอนนี้จึงน่าจะได้เวลาอันสมควรแล้วละครับที่ระบบราชการต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานให้ได้มากที่สุด และสามารถต่อเนื่องเชื่อมโยงกระบวนการทำงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการรับรองความถูกต้องของข้อมูล (verification and authentication) ระหว่างหน่วยงานของรัฐได้ทุกหน่วยงาน จะเรียกอีนั่นอีนี่ หรือสมาร์ทนั่นสมาร์ทนี่ ก็ตามทีเถิด เพื่อให้รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน ๆ ก็ตามมีข้อมูลที่จะนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดถึงระดับบุคคลและระดับครัวเรือนได้เสียที แถมลดภาระประชาชนด้วย เพื่อลูกเพื่อหลานของเรา

ตอนนี้หลายประเทศเขานำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ในการเชื่อมโยงกระบวนการทำงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการรับรองความถูกต้องของข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐกันแล้ว เรียกว่า Blockchain for Government โดยเฉพาะในการรับรองความถูกต้องของตัวบุคคลและความถูกต้องของบรรดาสรรพเอกสารที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออกให้แก่ประชาชน เพราะมีความปลอดภัยสูง และคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบจะรับรู้ข้อมูลเดียวกันหมด การแก้ไขอะไรทำเสียที่เดียวพอ ทุจริตก็ยากเพราะตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนแก้ไขข้อมูล แค่นี้ก็ลดภาระชาวบ้านโขอยู่ เพราะไม่มีใครซื้อเครื่องถ่ายเอกสารไว้ใช้ในบ้านหรอกครับ

บางประเทศ เช่น เอสโตเนีย ไปไกลกว่านั้นมาก เขาพัฒนาระบบจนสามารถยื่นขอรับใบอนุญาตออนไลน์ได้ทุกใบ แม้กระทั่งใบที่ต้องมีการตรวจสุขภาพหรือร่างกาย เขาก็เชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจโดยตรงกับโรงพยาบาลเลยผ่านบัตรประชาชน ขึ้นรถเมล์ก็ไม่ต้องใช้เงิน ใช้บัตรประชาชนแตะจบ ไม่ต้องใช้เงินสด ไม่ต้องพกบัตรหลายใบ ชาวเอสโตเนียจึง "ยืดอก พกบัตร (ประชาชน)" เท่านั้นจบ  เนเธอร์แลนด์และอีกหลาย ๆ ประเทศเขาก็กำลังดำเนินโครงการนี้อยู่อย่างขมักเขม้น เทคโนโลยีนี้ไม่ได้มีไว้เฉพาะให้ "ขุดเหรียญ" เพื่อปั่นราคาอย่างที่หลายท่านเข้าใจนะครับ  รายละเอียดมีอีกเยอะ เอาไว้ว่าง ๆ จะมาเล่าให้ฟังต่อก็แล้วกัน

น่าจะดีนะครับที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้เพื่อต่อเนื่องเชื่อมโยงกระบวนการทำงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการรับรองความถูกต้องของข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ เพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ราษฎร

หน่วยงานไหนทำไม่ได้ ให้ศูนย์คะแนนไปเลย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น